ประวัติ ของ วัดบุพพาราม (จังหวัดเชียงใหม่)

วัดบุพพาราม หรือ วัดเม็ง สร้างในสมัยพญาแก้ว (พ.ศ. 2039–2069) มีบันทึกใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ถึงการสร้างวัดนี้ว่า หลังจากที่พญาแก้วได้อภิเษกแล้วในปีที่สอง ได้โปรดให้สร้างอารามขึ้นอารามหนึ่ง ในหมู่บ้านที่พระราชปัยกาครั้งเป็นยุพราช และพระบิดาของพระองค์เคยประทับมาก่อน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง จุลศักราช 858 (พ.ศ. 2040) พระองค์ตั้งชื่ออารามว่า "บุพพาราม" มีความหมายว่า "อารามตะวันออก" ซึ่งหมายถึงอารามนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของราชธานีนครเชียงใหม่ ต่อมาในปีที่ 3 ของการครองราชย์ พญาเมืองแก้วทรงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นองค์หนึ่งท่ามกลางมหาวิหาร ในอารามนั้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเงิน และย่างเข้าปีที่ 4 พญาเมืองแก้วทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทอง และหอพระมณเฑียรธรรม ที่พระองค์โปรดให้สร้างไว้ในวัดบุพพาราม

ในปีจุลศักราช 866 (พ.ศ. 2047) ปีฉลู เดือน 8 วันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ พญาแก้วทรงรับสั่งให้ทำการหล่อมหาพุทธรูปไว้ ณ วัดบุพพาราม 1 องค์ ต่อมาในปีขาลเดือน 5 วันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ มีการหล่อพระมหาพุทธรูปด้วยทองแดงล้วน น้ำหนัก 1 โกฏิ ซึ่งมีสนธิ 8 แห่ง หรือข้อต่อ 8 แห่ง ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 5 ปี คือ สำเร็จในปี จ.ศ. 871 เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ วันพุธ โดยมีการฉลองอย่างใหญ่โตและได้รับการประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันเป็นพระประธานในวิหาร[1]

วัดบุพพารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2070 ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนและขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอน 145 วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2522 หน้า 2953 พื้นที่โบราณสถาน ประมาณ 2 ไร่ 3 งาน 87 ตารางวา[2]